วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การแต่งกายของไทย


ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมประจำชาติที่เป็นของตนเองมาเป็นระยะเวลายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะไทย มารยาทไทย ภาษาไทย อาหารไทย และชุดประจำชาติไทย
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีคุณค่า มีความงดงามบ่งบอกถึงเอกลักษณ์แห่งความเป็น "ไทย" ที่นำความภาคภูมิใจมาสู่คนในชาติ 
           การแต่งกายของไทยโดยเฉพาะในยุครัตนโกสินทร์ซึ่งมีอายุยาวนานมากกว่า 200 ปีนั้น ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ

นับตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ตอนกลาง ยุคเริ่มการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศ ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือ ยุค "มาลานำไทย" และ จนปัจจุบัน "ยุคแห่งเทคโนโลยีข่าวสาร" 
           แต่ละยุคสมัยล้วนมีรูปแบบการแต่งกายที่เป็นของตนเองซึ่งไม่อาจสรุปได้ว่า แบบใดยุคใดจะดีกว่า หรือ ดีที่สุด เพราะวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรม ล้วนต้องมีการปรับเปลี่ยนบูรณาการไปตามสิ่งแวดล้อมของสังคมแล้วแต่สมาชิกของสังคมจะคัดสรรสิ่งที่พอเหมาะพอควรสำหรับตน พอควรแก่โอกาส สถานที่และกาลเทศะ


สมัยน่านเจ้าจนถึงปลายสมัยอยุธยา


สมัยน่านเจ้า(พ.ศ. ๑๑๖๑–๑๑๙๔)
           เมื่อชนชาติไทยอพยพเคลื่อนที่ลงมาสู่แหลมอินโดจีนโดยลำดับ จนได้ตั้งอาณาจักรไทยน่านเจ้าขึ้นเป็นอาณาจักรไทยแห่งหนึ่งที่หนองแสตาลีฟู หญิงไทยคงรักษาวัฒนธรรมและประเพณีทางการแต่งกายของตนไว้ ไม่ใช้ฝุ่นผัดหน้าหรือเขียนคิ้ว ใช้น้ำกลั่นจากต้นหม่อนทาผม หญิงผู้ดีนุ่งซิ่นไหม ใช้ผ้าไหมอีกผืนหนึ่งคาดเอวไว้ ผมมุ่นสูง บางทีถักเป็นเปียห้อยลงสองข้าง ใช้ต่างหูทำด้วยไข่มุก ทับทิมหรืออำพัน นิยมใช้รองเท้าฟาง



สมัยเชียงแสน(พ.ศ ๑๖๖๑–๑๗๓๑)
           อาณาจักรน่านเจ้าสิ้นสุดลง ชนชาติไทยเคลื่อนสู่แหลมอินโดจีนรวบรวมกันเป็นอาณาจักรใหม่ เรียกลานนาไทย หรือเชียงแสน ราว พ.ศ. ๑๖๖๑–๑๗๓๑ เนื่องแต่เข้ามาอยู่ในเขตร้อน หญิงไทยจึงนุ่งซิ่นถุง แต่การทอผ้ามีลวดลายตกแต่งประดับประดา เช่น ซิ่นทอลายขวาง เกล้าผมสูง ปักปิ่นประดับผม



สมัยสุโขทัย (พ.ศ. ๑๗๘๑–๑๘๒๖)
           อาณาจักรสุโขทัยเริ่มราว พ.ศ. ๑๗๘๑ เป็นระยะเวลาใกล้กับที่ไทยอีกพวกหนึ่งเรียกตัวเองว่า ปงหรือปา ไปก่อตั้งอาณาจักรอาหม บัดนี้คือมณฑลอัสสัมในอินเดีย พ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย ทรงคิดตัวอักษรไทยขึ้น อิทธิพลทางวัฒนธรรมพราหมณ์และขอมแพร่มาถึงสตรีไว้ผมเกล้าสูง อย่างที่เรียกว่า โองขโดง คือรวบขึ้นไปเกล้ามวยกลางกระหม่อม มีเกี้ยวหรือพวงมาลัยสวม สนมกำนัลแต่งกรัชกายนุ่งห่มผ้าลิขิตพัสตร์ ผ้าสุวรรณพัสตร์ ประดับเครื่องอลังกาภรณ์ มีจดหมายเหตุบันทึกการแต่งกายสตรีว่า หญิงนุ่งผ้าสูงพ้นดิน ๒ - ๓ นิ้ว (กรอมเท้า) สวมรองเท้ากีบทำด้วยหนังสีดำสีแดง



สมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
           พระมเหสีเทวีแต่โบราณเสวยพระกระยาหารต่างเวลากับพระมหากษัตริย์ ย่อมโปรดให้ข้าหลวงตั้งเครื่องเสวยของพระองค์เองก่อนหรือภายหลัง เพื่อมีเวลาถวายปรนนิบัติพระราชสวามีได้เต็มที่ เครื่องทรงเป็นภูษาจีบห่มผ้าปัก มีเครื่องประกอบยศขัตติยนารี

ต้นสมัยอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓– ๒๑๓๑)
           พระเจ้าอู่ทอง ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยา ศิลปะการดนตรีขับร้องและกลอนเพลงเฟื่องฟู ไทยเริ่มนุ่งโจงกระเบน แปลงจากทรงหยักรั้งอย่างขอม หญิงนุ่งจีบห่มสไบ มีผ้าห่มชั้นในอีกผืนหนึ่งห่มอย่างผ้าแถบสไบชั้นนอกใช้ผ้าเนื้อหนาก็ได้ ตามกฎมณเฑียรบาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถระบุว่า “เมื่องานใส่เศียรเพชรมวย” คือเกล้าไว้ที่ท้ายทอย "เกล้าหนูนยิกเกี้ยวแซม" คือ ผมเกล้าสูงไว้บนกระหม่อม
สมัยอยุธยา (พ.ศ. ๒๒๗๕ - ๒๓๐๑)
           ในสมัยอยุธยารัชกาลพระเจ้าบรมโกษฐ์ วรรณคดีไทยเฟื่องฟูมาก เช่น มีกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ซึ่งได้ใช้ขับเห่เรือพระที่นั่งมาจนปัจจุบัน การแต่งกายสตรีตามภาพพจน์นิพนธ์กล่าวว่า
“คิดอนงค์องค์เอวอร       ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร” 
และ “ผมเผ้าเจ้าดำขลับ       แสงยับยับกลิ่นหอมรวย 
ประบ่าอ่าสละสลวย       คือมณีสีแสงนิล”
           แสดงว่าสตรีนิยมไว้ผมยาว เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชธิดาสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ได้นิพนธ์บทละครเรื่อง ดาหลังและอิเหนา ขึ้น ตามเค้าเรื่องที่ข้าหลวงเชื้อชาติมลายูเล่าถวาย




   สิ้นรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ประเทศไทยต้องทำศึกสงคราม การแต่งกายของสตรีจึงเปลี่ยนแปลงไป 
ผมที่เคยไว้ยาวประบ่าก็ต้องตัดสั้น เพื่อสะดวกในการปลอมเป็นชายอพยพหลบหนี ห่มผ้าคาดอกแบบตะเบงมานรวบชายผูกเงื่อนที่ต้นคอ แสดงถึงหญิงไทย แม้จะเป็นเพศอ่อนโยนสวยงาม แต่ก็อาจปรับตัวรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ งานบ้านปรกติก็ต้องทำ เช่น ฝัดข้าวไว้หุง แต่พอมีสัญญาณภัยก็วางกะด้ง คว้าดาบ 
พร้อมที่จะสู้ได้ทันที









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น